วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บทความที่ 4 ความรู้ทางวิชาการ

ความรู้ทางวิชาการ

ความหมายของอุปสงค์และอุปทานและกฎของอุปสงค์และอุปทาน

อุปสงค์ หมายถึง ความต้องการสินค้าและบริการ โดยอุปสงค์สำหรับสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง หมายถึงจำนวนต่างๆของสินค้าและบริการชนิดนั้น ที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในระยะเวลาใด เวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้า และบริการชนิดนั้น
ความต้องการในแง่ของอุปสงค์นี้เป็นความต้องการที่มีอำนาจซื้อ คือ เมื่อผู้บริโภคต้องการจะซื้อก็จะต้องมีเงินเพียงพอ และมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าบริการนั้นๆด้วย จึงจะถือว่าเป็นอุปสงค์สำหรับสินค้าและบริการ
กฎของอุปสงค์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคแปรผกผันกับระดับราคาของสินค้าและบริการชนิดนั้นเสมอ กล่าวคือ ถ้าราคาสินค้าและบริการมีระดับราคาสูงขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าลดลง แต่ถ้าระดับราคาสินค้าและบริการลดลง จะทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
อุปสงค์หรือปริมาณความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ จะขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าและบริการ รายได้ของผู้บริโภค รสนิยมของผู้บริโภค ราคาของสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฤดูกาลของสินค้าด้วย
การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ หมายถึง การที่ตัวกำหนดโดยตรง คือราคาของสินค้าได้เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้ปริมาณซื้อเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของอุปสงค์เดิม อุปสงค์หรือความต้องการนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังต่อไปนี้
– การเปลี่ยนแปลงต่อรายได้ คือ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น อำนาจการซื้อจะเพิ่มขึ้น
– การเปลี่ยนแปลงต่อราคา ในกรณีที่มีรายได้เท่าเดิม แต่ราคาของสินค้าเปลี่ยนแปลงไป อุปสงค์จะมีการเปลี่ยนแปลงตาม กฎของอุปสงค์ คือ เมื่อราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นจะลดปริมาณการซื้อลง แต่เมื่อราคาสินค้าลดลงจะเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้ามากขึ้น
อุปทาน หมายถึง อุปทานของสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ ปริมาณสินค้าหรือบริการที่ผู้ขายต้องการจะเสนอขาย ณ ระดับราค่างๆในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง
ในการเสนอขายสินค้าของผู้ผลิตหรือผู้ขายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น ถ้าระดับสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา หรือการกำหนดราคาของตลาด จำนวนสินค้าและบริการที่จะนำเสนอขายก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย กล่าวคือ ถ้าราคาสินค้าและบริการในตลาดช่วงเวลานั้น มีระดับราคาสูง ผู้ผลิตหรือผู้ขายก็จะผลิตหรือนำเสนอขายเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงเวลาที่สินค้าและบริการในตลาดลดลง หรือขายได้ในราคาต่ำ ผู้ผลิตหรือผู้ขายก็จะไม่นำสินค้าออกมาเสนอขาย หรือลดจำนวนขายลง
กฎของอุปทาน คือ เมื่อราคาสินค้าที่เสนอขายนั้นสูงขึ้น ผู้ขายก็จะนำสินค้าออกขายในปริมาณมาก แต่เมื่อราคาสินค้าที่เสนอขายนั้นลดลงผู้ขายก็จะนำสินค้าออกขายในปริมาณลดลง
อย่างไรก็ตาม การเสนอขายสินค้าและบริการไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาอย่างเดียว แต่การเสนอขายสินค้ายังขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการผลิต ราคาปัจจัยการผลิต สภาพดินฟ้าอากาศ จำนวนผู้ผลิต และอื่นๆอีกมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น